ระบบการศึกษาในประเทศสหราชอาณาจักร


ระบบการศึกษาในประเทศสหราชอาณาจักร

สถานศึกษาทุกระดับในสหราชอาณาจักร จะเปิดภาคการศึกษา ในช่วงเดือนกันยายน จนถึงต้นเดือนตุลาคมของปีที่หนึ่ง และสิ้นสุดภาคการศึกษาประมาณปลายเดือนมิถุนายนจนถึงต้นเดือนกรกฎาคมของปีถัดไป โดยแบ่งภาคการศึกษาออกเป็น
ภาคต้น (Autumn Term) ตั้งแต่ประมาณปลายเดือนกันยายน จนถึงเดือนธันวาคม
ภาคกลาง (Spring Term) ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนมกราคม ไปจนถึงปลายเดือนมีนาคม
ภาคปลาย (Summer Term) ตั้งแต่ประมาณปลายเดือนเมษายน ไปจนถึงต้นเดือนกรกฎาคม
ระบบการศึกษาของสหราชอาณาจักรแบ่งเป็น ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา
การศึกษาภาคบังคับของสหราชอาณาจักร เริ่มตั้งแต่อายุ 5 ปี ไปจนถึง 16 ปี โรงเรียนมีทั้งประเภท โรงเรียนรัฐบาล (State School) และ โรงเรียนเอกชน (Public หรือ Independent School) โดยในช่วงเด็กมีอายุ 3 – 4 ปี จะเข้าเรียนในระดับอนุบาล หรือโรงเรียนระดับ Nursery ซึ่งมีทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน

1. ระดับประถมศึกษา (Preparatory School หรือ Prep School)

ตั้งแต่อายุ 5-13 ปี ใช้เวลาศึกษา 8 ปี
  • Pre-Prep School (เตรียมประถมศึกษา) ระยะเวลาศึกษา 2 ปี เรียกว่า Year 1 – Year 2 รับนักเรียนอายุ 5 – 7 ปี
  • Prep School (ประถมศึกษา) ระยะเวลาศึกษา 6 ปี เรียกว่า Year 3 – Year 8 ในบางโรงเรียนเรียก Year 7, Year 8 เป็น Form 1, Form 2
การศึกษาในระดับนี้ เน้นให้เด็กมีความสามารถในการปรับตัว และพัฒนาความคิดตามวัย กับสอนให้เด็กมีทักษะทางการเขียนและตัวเลข และเพื่อการเตรียมตัวสอบ Common Entrance Examination (CEE) เพื่อศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาต่อไป

2. ระดับมัธยมศึกษา (Secondary School + Sixth Form College / College of Further Education)

นักเรียนอายุ 13 ปีขึ้นไป และเรียน ได้จนถึงอายุ 18 – 19 ปี รวมระยะเวลาศึกษา 5 ปี เรียกว่า Year 9 – Year 13 (หรือ Form 3 – Form 6 (Year 12 – 13) สำหรับโรงเรียนที่เรียกระดับชั้นเป็น Form)
การขึ้นชั้นเรียนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เป็นการขึ้นชั้นเรียนต่อไปได้ โดยอัตโนมัติ ไปจนถึงอายุ 16 ปี ทางกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ของอังกฤษ จะกำหนดให้มีการทดสอบความรู้ความสามารถของเด็ก โดยคณะกรรมการอิสระ ซึ่งผลการทดสอบดังกล่าว จะถูกนำไปใช้พิจารณาเรื่องการสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาต่อไป การสอบนี้มี 2 ระดับ โดยจะสอบประมาณเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกรกฎาคม ของทุกปี คือ
GCSE (General Certificate of Secondary Education) การสอบระดับนี้ จะสอบเมื่อเด็กมีอายุประมาณ 16 ปี ขึ้นไป นักเรียนเลือกสอบประมาณ 6-10 วิชา เช่น วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาต่างประเทศ ศิลป ฯลฯ และผลการสอบจะแบ่งเป็น 7 ระดับ คือ Grade A, B, C, D, E, F, G ผู้ที่สอบได้ Grade C ขึ้นไปจึงจะถือว่าสอบผ่าน นักเรียนที่สอบ GCSE ได้แล้ว (อย่างน้อย 5 วิชา) หากจะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาจะต้องศึกษาต่ออีกประมาณ 2 ปี ในระดับ A Level (Advanced Level)
A Level (Advanced Level) เป็นการสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทางวิชาการของเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป มีวิชาให้เลือกกว่า 50 วิชา ส่วนใหญ่นักศึกษาในระดับ A Level จะลงเรียนเพียง 2-4 วิชา เพื่อที่จะได้ศึกษาแต่ละวิชาอย่างลึกซึ้งวิชาที่นักศึกษาเลือกเรียนมักจะเกี่ยวข้องกับหลักสูตรหรือสาขาที่ต้องการศึกษาต่อ ในระดับปริญญาตรี ผลการสอบ A Level มี 5 ระดับ คือ A, B, C, D, E แต่ Grade ที่ได้ทั้ง 5 ถือว่าสอบผ่านทั้งหมด มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่พิจารณารับผู้มีผลการสอบในระดับ C ขึ้นไป บางแห่งอาจรับเฉพาะผู้ที่ได้คะแนนระดับ A และ B
คุณสมบัติขั้นต่ำของการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ส่วนใหญ่จะพิจารณาจากผลการสอบทั้ง 2 ระดับ ดังนี้
วิชา GCSE 3 วิชา และ GCE “A” Level 2 วิชา  หรือ
วิชา GCSE 1 วิชา และ GCE “A” Level 3 วิชา
หลังจากจบการศึกษาภาคบังคับเมื่ออายุ 16 ปี นักเรียนสามารถเลือกที่จะไม่ศึกษาต่อ หรือจะศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไปได้

3. ระดับอาชีวศึกษา (Vocational School)

เป็นการ ศึกษาที่จัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งไม่ประสงค์จะศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา หรือผู้ที่ไม่มีคุณวุฒิ GCSE แต่ประสงค์จะมีคุณวุฒิทางวิชาชีพต่างๆ เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ
เดิมหลักสูตรอาชีวศึกษาของอังกฤษ มี 3 ระดับ คือ First Diploma, National Diploma และ HND (Higher National Diploma) แต่ปัจจุบัน คุณวุฒิวิชาชีพ มี 2 ประเภท คือ
GNVQ (General National Vocational Qualification) เป็นการศึกษากึ่งสายอาชีพ คือ เรียนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ มี 4 ระดับ ดังนี้
  • GNVQ Foundation (ระดับพื้นฐาน) หลักสูตร 1 ปี รับจากผู้ที่อายุ 16 ปี ไม่ต้องมีคุณวุฒิใดๆ
  • GNVQ Intermediate หลักสูตร 2 ปี ต่อจาก GNVQ Foundation
  • GNVQ Advanced หลักสูตร 2 ปี เทียบเท่า A-Level ผู้ที่สำเร็จหลักสูตรนี้สามารถสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้
  • GNVQ 4 หลักสูตร 2 ปี เทียบเท่าหลักสูตรปีที่ 1 ของระดับ ปริญญาตรี จึงสามารถเข้าศึกษาต่อปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยได้ โดยใช้เวลาอีก 2 ปี
NVQ (National Vocational Qualification) เป็นวุฒิการศึกษาสายอาชีพและการฝึกปฏิบัติวิชาชีพเฉพาะ โดยผู้ว่าจ้างสหภาพแรงงงานและผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพนั้นๆ เป็นผู้กำหนดมาตรฐานการศึกษา การศึกษาในระดับนี้แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ NVQ1, NVQ2, NVQ3, NVQ4, NVQ5 แต่ละระดับจะยึดตามความสามารถเป็นหลัก ไม่มีการกำหนดระยะเวลาตายตัวในการเรียน

4. ระดับอุดมศึกษา (Higher Education)

การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนของรัฐ การศึกษาระดับอุดมศึกษา แบ่งเป็น
หลักสูตรปริญญาตรี (First Degree)
ในอังกฤษ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ
  • หลักสูตรทั่วไป 3 ปี ผู้สำเร็จการศึกษา จะได้รับปริญญา BA (ศิลปศาสตรบัณฑิต) BBA (บริหารธุรกิจบัณฑิต) BEd (ศึกษาศาสตร์บัณฑิต) BSc (วิทยาศาสตร์บัณฑิต) LLB (นิติศาสตร์บัณฑิต) เป็นต้น
  • หลักสูตรบางสาขาใช้เวลาศึกษามากกว่า 3 ปี เช่น วิศวกรรมศาสตร์ (4 ปี) สถาปัตยกรรมศาสตร์ (5ปี) ทันตแพทย์ศาสตร์ (5ปี) สัตวแพทย์ศาสตร์ (5ปี) แพทย์ศาสตร์ (6ปี)
ในสก๊อตแลนด์ มี 2 หลักสูตร คือ Ordinary Degree (3ปี) และ Honours Degree (4ปี) โดยเรียนเพิ่มจาก Ordinary degree อีก 1 ปี
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งยังเปิดหลักสูตรการศึกษาที่หลากหลายออกไปอีก ดังนี้
  • Joint Honours Degree เป็นการเรียนร่วมตั้งแต่ 2 สาขาวิชาขึ้นไป อาจเป็นสาขาวิชาที่ใกล้เคียงกัน เช่น เศรษฐศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรืออาจเป็นสาขาที่ไม่ใกล้เคียงกันแต่ยังเกี่ยวข้องกันในทางหนึ่งทางใด เช่น คอมพิวเตอร์กับจิตวิทยา ทั้งนี้ กำหนดน้ำหนักการเรียนในแต่ละสาขาวิชา เท่ากัน
  • Combined Degree คือ ปริญญาร่วม โดยการเรียนแต่ละสาขาวิชา ไม่จำเป็นต้องมีน้ำหนักการเรียนเท่ากัน
  • Sandwich Courses เป็นการเรียนโดยรวมเวลาฝึกงานกับเวลาเรียนเข้าด้วยกัน เช่น การฝึกงานด้านอุตสาหกรรม การค้า การบริหารธุรกิจ หรืออาชีพอื่นๆ จึงต้องใช้ระยะเวลาศึกษานานกว่าปกติ (3 ปี) เป็น 4 ปี การฝึกงานอาจเป็นช่วงเดียว คือ เป็นเวลา 1 ปี หรือ 2 ช่วงๆ ละ 6 เดือน หากเป็น 2 ช่วง เรียกว่า หลักสูตร Thin-sandwich หลักสูตรทั้ง 2 ประเภทนี้ นักศึกษาต้องกลับมาเรียนที่ มหาวิทยาลัยในปีสุดท้ายก่อนสำเร็จการศึกษา
สำหรับผู้ที่มีผลการเรียนระดับปริญญาตรีไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานการเข้าศึกษา ปริญญาโทของมหาวิทยาลัย หรือผู้ที่เปลี่ยนสาขาวิชาเรียน มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะรับให้เข้าศึกษาหลักสูตร Post-Graduate Certificate/Diploma ระยะเวลา 9 เดือน ถึง 1 ปีก่อน แล้วจึงรับเข้าเรียนต่อหลักสูตรปริญญาโท
หลักสูตรระดับสูงกว่าปริญญาตรี (Higher degree) มี 2 ประเภท
ประเภทหลักสูตรเข้าชั้นเรียน (Taught Course) ระยะเวลาศึกษา 1 ปี
นักศึกษาสามารถเลือกเรียนเฉพาะด้านได้ โดยอยู่ในความดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษา หรือผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้นๆ วิธีการเรียนการสอนแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ในครึ่งปีแรกของหลักสูตรเป็นการบรรยายในชั้นเรียน การสัมมนาการติวกลุ่มย่อย หรือการทำงาน ในห้องทดลอง หลังจากนั้นอีกครึ่งปีจะเป็นการทำงานศึกษาวิจัยชิ้นใหญ่หรือที่วิทยานิพนธ์ ปริญญาที่ได้รับ เป็นระดับปริญญาโท อาทิ MSc., MA, MBA
เป็นต้น
ประเภทหลักสูตรการค้นคว้าวิจัย (Research Course) ใช้เวลาศึกษา 3 ปี โดยการทำวิจัยและเขียนวิทยานิพนธ์ ในปีแรกของปริญญาเอก เป็นการศึกษาวิจัยเพื่อให้มีความรู้ความสามารถเข้ามาตรฐานการเรียนปริญญาเอก เรียกว่าระดับ M.Phil เมื่อมีผลงานและความรู้ความสามารถตาม มาตรฐานจึงปรับให้เข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก Ph.D ปีที่ 2 (ไม่ใช่ Ph.D ปี 1) ซึ่งผลงานไม่ถึง มาตรฐานปริญญาเอกจะไม่ได้ผ่านศึกษาต่อจนสำเร็จหลักสูตร Ph.D. แต่จะได้รับวุฒิ M.Phil ซึ่งอาจเทียบเท่าเพียงระดับปริญญาโท แต่ผู้ที่ได้เรียนครบจนสำเร็จหลักสูตร Ph.D ก็จะได้รับวุฒิ Ph.D แต่ไม่ได้วุฒิ M.Phil เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

New Route to Ph.D เป็นอีกทางเลือกของการศึกษาในระดับปริญญาเอก ในประเทศอังกฤษ ใช้เวลาเรียน 4 ปี โดย 30-40% ของหลักสูตรจะเป็นการเรียนแบบ Taught Course และอีก 60-70% จะเป็นการวิจัย


...................
สนใจสอบถามข้อมูล ติดต่อ 02-3924186 หรือ chanin@ascend-education.com (พี่นิน), lan@ascend-education.com (พี่หลัน)
สอบถามข้อมูลผ่าน LINE@ กดลิ้งนี้ https://line.me/R/ti/p/%40ova2950r

หรือไอคอนข้างล่างนี้